[1]มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต
หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ[2]แสดงข้อความอันเป็นเท็จ
หรือ[3]ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น[4]ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม [5]ทำ
ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๒
ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(๑) [6]แสดงตนเป็นคนอื่น
หรือ
(๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก
หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๓ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา
๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ[7]ต่อประชาชน
หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒
อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี
และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา ๓๔๔ ผู้ใดโดยทุจริต
หลอกลวง[8]บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใดๆ
ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น
หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๕ ผู้ใด[9]สั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม
หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม
หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน
หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๖
ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน
โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา
และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสารสำคัญแห่งการกระทำของตน
จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๗
ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย
แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๘ ความผิดในหมวดนี้
นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๔๓ เป็นความผิดอันยอมความได้
[1] ความแตกต่างระหว่างลักทรัพย์กับฉ้อโกง
ได้แก่ การใช้อุบายหลอกลวงให้ผู้อื่นส่งมอบการยึดถือ
เป็นเรื่องลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แต่การฉ้อโกง
เป็นการหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ แต่ลักทรัพย์เป็นเรื่องการแย่งการครอบครอง เช่น
ไปที่ห้างนำเหล้าใส่กล่องน้ำปลา ไปจ่ายเงินค่าน้ำปลา
เป็นลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายเพราะเป็นการใช้อุบายให้ผู้อื่นส่งมอบการยึดถือ
แต่หากนำบาร์โค้ดมาติดสลับราคา เป็นฉ้อโกง
เพราะเป็นการหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ (ง่าย ๆ
เจ้าของหรือผู้ครอบครองเต็มใจส่งมอบทรัพย์นั้นโดยเต็มใจเพราะเชื่อหรือไม่
หากใช่เป็นฉ้อโกง หากไม่ใช่เป็นลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย) ตัวอย่างการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย
เช่น ขอทดลองม้าเจ้าของยังไม่ทันอนุญาตก็ส่งบังเหียนให้เพื่อนขี่ม้าหนีไป
,เรียกเอาเงินทองมาใส่ถุงย่ามเพื่อเป็นสิริมงคลแล้วเอาไป
เป็นลักทรัพย์เพราะผู้เสียหายเพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการชั่วคราว
,ขณะเติมน้ำมันไม่ได้ดับเครื่อง ฝาปิดน้ำมันไม่มี
เป็นเจตนาทุจริตมาแต่ต้นที่จะลักทรัพย์ , ตัวอย่างฉ้อโกง ขี่จักรยานมาเติมน้ำมัน
เมื่อเติมเสร็จผู้เสียหายทวงเงินก็นำลูกกลม ๆ
ออกมาถือคล้ายลูกระเบิดบอกว่าไม่มีเงินให้นี่เอาไหม แล้วก็ขี่จักรยานยนต์หนีไป
,หลอกนายสถานีรถไฟว่าเป็นนายบ. เจ้าของพันธ์ไม้
นายสถานีเชื่อส่งมอบให้ไปเป็นฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ,
[2] การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีต หรือในปัจจุบัน
ถ้าเป็นการให้คำมั่นหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตแล้วไม่ผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งแนวฎีกาจะมีปัญหาการตีความว่าเป็นสัญญาทางแพ่ง
เช่น อ้างว่าจะนำเงินที่ได้ไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ
โดยไม่ได้นำไปซื้อและไม่คืน๗๐๗/๑๖ ,ยืมเงินโดยนำเช็คลงวันที่ล่วงหน้ามาค้ำ ๑๑๕๓/๑๑
,ตกลงขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายและผู้เสียหายวางเงินมัดจำไว้ ต่อมาไม่ขายไม่คืนเงิน๓๗๘๔/๓๒
,กรณีตีความว่าเป็นฉ้อโกง เช่น
จำเลยใช้อุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและส่งมอบสินค้า
และวันเดียวกันได้ออกเช็คค่าสินค้าที่หลอกลวง(ต่างจากฎีกาข้างต้นว่าจ่ายเช็คล่วงหน้า)
,ทำทีเข้าไปซื้อสบู่ส่งเงินให้ ๑๐๐ บาท ต่อมาบอกไม่เอาสบู่แล้วขอเงินคืน โดยส่งคืนสบู่และเงินทอนไม่ครบ
๑๕๑๔/๐๘ ,ชักชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วไม่ส่งไป
,ให้ผู้เสียหายติดต่อซื้อโคมาให้และจะนำค่าโคและนายหน้ามาจ่าย
เมื่อถูกจับให้การว่าชำระเงินแล้ว ผิดฉ้อโกง ,
[3] ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง
เช่น หลอกว่าส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศได้
โดยที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางาน ,
[4] ต้องเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
กรณีไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ได้แก่ เอาพ่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกฌาปนกิจ
อ้างว่านายเอเป็นนายบีบิดาจำเลย เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง
ที่จริงแล้วป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ การหลอกลวงมีผลให้ผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น
หาทำให้ได้รับทรัพย์สินไปจากผู้เสียหาย
แม้ต่อมามีการจ่ายเงินสงเคราะห์ไปเนื่องจากนายเอตาย หาใช่เรื่องจากการหลอกลวงไม่
๓๖๖๗/๒๖ , หลอกว่ารถจำเลยขัดข้อง ว่าจ้างรถผู้เสียหายไปส่ง ผู้เสียหายหลงเชื่อ
ได้รับผลเพียงการขนส่งไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ,จอดรถโดยไม่เสียค่าจอดไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
,(ต้องเป็นการหลอกไปจากเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่)
ความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงต้องเป็นเจ้าของทรัพย์
แม้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ใครหลอกลวงให้ส่งทรัพย์ก็ผิด ๒๗๐๕/๔๓
,หลัก ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่ต้องการผล
หากไม่เกิดผลเป็นพยายามเช่น
หลอกว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลสั่งนมให้นำไปส่งรพ.ศิริราชส่วนหนึ่ง
อีกส่วนไปส่งที่ท่าช้าง ได้โทรไปถามผู้อำนวยการได้รับแจ้งว่าไม่ได้สั่งซื้อ
ได้แจ้งให้ตำรวจจับโดยให้คนของบริษัทไปส่งตามที่กำหนดแล้วตำรวจเข้าจับ เป็นพยายาม
เพราะการส่งมอบมิได้เกิดผลจากการหลอกแต่เป็นเพียงอุบายเพื่อหลอกจับ
[5] ทำถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ
เช่น นำโฉนดที่ได้รับการเพิกถอนแล้วให้ยึดถือประกัน
เมื่อหนี้ถึงกำหนดเสนอโฉนดที่ดินดังกล่าวชำระแทนเงินกู้
เป็นเหตุให้ผู้เสียหายคืนสัญญากู้ ,หลอกลวงพนักงานโจทก์ว่าได้ขอไถ่ถอนจำนองแล้ว
พนักงานได้ออกเอกสารปลดจำนอง ,ปลอมตั๋วเครื่องบิน มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
นำไปขึ้นเครื่องบิน ๑๕๐๘/๓๘
[6] แสดงตนเป็นบุคคลอื่น
หมายถึง เป็นคนอีกคนหนึ่ง
ไม่ใช่เพียงแต่หลอกลวงหรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจฐานะของตนผิดไปเท่านั้น
และอ้างบุคคลที่ไม่มีตัวตนก็ผิดได้ เช่นอ้างว่าเป็นร้อยตำรวจ
จ.ประจำกองสอบสวนกลางปทุมวัน แม่ความจริงไม่มีร้อยตำรวจ จ.ก็ผิดแล้ว
[7] ประชาชน
หมายถึง บรรดาพลเมืองซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย ๗๐๙/๒๓
กรณีถือว่าไม่เป็นประชาชน เช่น หลอกนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อ้างว่าเป็นข้อสอบที่จะออกจริง
กรณีถือว่าเป็นประชาชน เช่น จำเลยวางแผนประกาศทางหนังสือพิมพ์ให้สมัครงาน
[8] บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
หมายถึง เจตนาหลอกลวงให้ได้ถึง ๑๐ คน มาตั้งแต่แรก
และการหลอกลวงได้มาทำงานที่ละคนสองคน
ถึงแม้คนที่ถูกหลอกมาตั้งแต่แรกเลิกทำงานไปเสียก่อนจะครบ ๑๐ คนถ้าได้มาครบ ๑๐
คนแล้วแม้จะไม่ใช่ในขณะเดียวกันหรือพร้อมกันก็ยังเป็นความผิดตามมาตรานี้
[9] การสั่งซื้อและบริโภค
หมายถึง การสั่งซื้อและบริโภคอาหารซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องในเวลานั้น
,ดังนั้นหากสั่งอาหารล่วงหน้าหลายวัน หรือนำสินค้ามากินบ้านและจะจ่ายภายหลังไม่ผิดมาตรานี้แต่ผิดสัญญาทางแพ่ง
อ้างฎีกาที่ ๑๖๘๖/๕๐ ,๑๐๗๗/๑๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น